กิจกรรม "เสียงจักจั่น สนั่นโรงเรียน"

กิจกรรม "เสียงจักจั่น สนั่นโรงเรียน"



ปี 2557 นี้เป็นครั้งแรก ที่พี่แอน จาก "แอนอาสาคิดดอทคอม" ไปสอนเด็ก ๆ ประดิษฐ์จักจั่นที่โรงเรียนอนุบาลค่ะ  ซึ่งพี่แอนตื่นเต้นไม่แพ้เด็กๆ เลยค่ะ ว่าจะอธิบายเด็กน้อยให้เข้าใจไหมนะ

        เมื่อจับก้านไม้ไผ่ แกว่งของเล่น เกิดเสียงจั่นๆ เป็นจังหวะ  เด็ก ๆ แย่งกันตอบเสียงใส “เสียงแมลงแถวบ้าน” “เสียงจักจั่นไง” “เสียงมาจากไหนคะ” เด็ก ๆ เริ่มสนใจกับของเล่นชิ้นนี้  

        เด็ก ๆ สมัยก่อนคุ้นเคยกับ “จักจั่น” ของเล่นพื้นบ้าน ที่ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นท่อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีของเล่นอีกหลายชนิดที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน โดยผู้ใหญ่เป็นผู้ประดิษฐ์ หรือสอนให้เด็กๆ ทำจากวัสดุที่หาได้ตามพื้นบ้าน  ปัจจุบันจักจั่นมีขายในงานวัด ราคาไม่กี่บาท โดยใช้ดินปั้นหรือท่อพีวีซีหุ้มกระดาษ

        แต่พี่แอนทดลองใช้วัสดุอย่างอื่น เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

            

        พี่แอนเลือกกล่องใส่ฟิล์มถ่ายภาพที่สะสมไว้เยอะมาก (สมัยนี้อาจหายาก เพราะเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตอลกันแล้ว) เพราะน้ำหนักเบา และมีก้นกล่อง ติดกันเป็นชิ้นเดียว จึงมั่นใจว่า เวลาเหวี่ยง ตัวกล่องฟิล์มจะไม่หลุดกระเด็นตามแรงเหวี่ยงไปด้วย  นอกจากนี้อาจใช้กระดาษแข็งมาม้วนก็ได้ โดยวัสดุที่นำมาทำตัวจักจั่นแตกต่างกันจะให้เสียงต่างกันด้วย  



       จากนั้นพี่แอนคิดให้เกิดการบูรณาการงานศิลปะประดิษฐ์ ให้เด็ก ๆ รู้ว่า ของเล่นชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจมาจากแมลงตัวหนึ่งที่ชื่อว่า จักจั่น โดยให้เด็ก ๆ ติดกระดาษสีสดสวย ติดลำตัว ปีก และติดตากลิ้ง จึงดูเหมือนแมลง “จักจั่น” เจ้าของเสียงในธรรมชาติ 


                  

                               

ของเล่นจักจั่นของเด็ก ๆ จึงน่ารัก และสดใส ต่างจากที่วางขายทั่วไป

      


        พี่แอนชี้ชวนให้เด็กๆสังเกตไม้ที่ใช้แกว่งจักจั่น ซึ่งมียางสนสีน้ำตาลหุ้มอยู่  พี่แอนได้เผายางสนจนเยิ้ม ก่อนหยดลงบนปลายไม้  นี่คือความลับของเสียงจักจั่นของเล่นของเรา ว่าที่แท้ก็คือ เกิดจากการเสียดสีระหว่างเชือกกับยางสน เกิดเป็นเสียงสั่นสะเทิอนไปตามตัวกลาง (เส้นเชือก) ไปสู่กล่องใส่ฟิล์มที่เป็นท่อ

        เสียงจักจั่นแต่ละตัวที่เด็ก ๆ ประดิษฐ์แตกต่างกัน เพราะขนาดและความยาวของเส้นเชือก รวมถึงการปะติดกระดาษบนกล่องฟิล์มที่มีความหนาบางต่างกัน นี่คือการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่สร้างความสนใจให้เด็ก ๆ ได้ดี


นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังได้เข้าใจธรรมชาติของเจ้าแมลงมีปีกชนิดนี้ว่า จักจั่น เป็นแมลงที่กำเนิดบนโลกเมื่อ 230-295 ล้านปี (ในยุคไดโนเสาร์เชียวละ) แต่กว่าที่จะได้ขึ้นมาส่งเสียงในธรรมชาติ มันต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน โดยเป็นตัวอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้เป็นอาหาร เป็นเวลาถึง 6 ปี ก่อนที่จะเป็นตัวเต็มวัย ขึ้นมาชื่นชมโลกสวยงามเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น โดยอาศัยอยู่ตามต้นไม้ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร

        จักจั่นมีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป จนถึงบางชนิดมีขนาดยาวกว่า 10 เซนติเมตร จะนับว่าเป็นแมลงที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งก็ได้ จักจั่นตัวผู้มีอวัยวะพิเศษทำเสียงได้ โดยมีเสียงดังมากถึง 200 เดซิเบล มีแหล่งกำเนิดเสียงมาจากบริเวณด้านใต้ลำตัวของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก จักจั่นแต่ละชนิดมีเสียงเฉพาะ ทำให้สามารถแยกประเภทของจักจั่นได้จากเสียงร้อง โดยความหมายของเสียงร้องอาจบ่งบอกได้ถึงการป้องกันตัว ตกใจเมื่อถูกรบกวน หรือร้องเรียกเพื่อหาคู่


        วันนี้น้องอิ๊ก และเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ทั้งวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติชีวิตสัตว์ และศิลปะประดิษฐ์ ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการลงมือทำของเล่นด้วยตนเอง พวกเขาจึงสนุกที่ได้แกว่ง “จักจั่น” เกิดเสียงจั่นๆ อย่างสนุกสนาน


Tags : จักจั่น ของเล่นจักจั่น วิธีทำจักจั่น จั๊กจั่น ของเล่นจั๊กจั่น วิธีทำจั๊กจั่่น 

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view